Support
Arjan Pong
035 323239, 035 323240, 089 8129392
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

กระสุนนัดสุดท้าย

ArjanPong | 17-12-2555 | เปิดดู 3282 | ความคิดเห็น 0

 

 

                   

 

  

 

 

 

              กระสุนนัดสุดท้ายที่อ่าวมะนาว

 สายวันนั้นเอง นายหยอย ทิพย์นุกูล บุรุษไปรษณีย์ก็ได้นำโทรเลขจากพันเอกหลวงเชวงศักดิ์สงคราม(ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่แจ้งให้หยุดยิงมาส่งให้ผู้บังคับกองบินน้อย

แต่ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕ ไม่เชื่อ ด้วยเกรงว่าจะเป็นกลลวงของฝ่ายญี่ปุ่น !!!

เวลา ๑๐.๐๐ น.ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕ ได้จัดตั้งที่บังคับการขึ้นใหม่ที่บริเวณเชิงเขาล้อมหมวกซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายในสมรภูมินี้แล้ว จากนั้นก็เรียกประชุมบรรดานายทหารทั้งหมดที่เหลืออยู่ เห็นว่าไม่มีทางจะต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นได้เพราะมีกำลังน้อยกว่า ทั้งอยู่ในที่จำกัด และหมดหวังในการรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอกแล้ว

ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕ นาวาอากาศตรี หม่อมหลวง ประวาศ ชุมสาย จึงสั่งให้เผาคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาล้อมหมวกริมอ่าวประจวบเสียเพื่อมิให้ข้าศึกนำไปใช้ประโยชน์ได้

จากนั้นก็สั่งการสุดท้ายว่า…

ให้นายทหารทุกนายเหลือกระสุนไว้สำหรับตนเองอย่างน้อยคนละ ๑ นัด !!!

หยุดรบ
สถานการณ์คับขันและสิ้นหวัง ทั้งตัวทหารและลูกเมียไม่มีใครเห็นทางรอดจากกระสุนและคมดาบซามูไรที่จ่อคอหอยอยู่รอเวลาเพียงออกแรงเล็กน้อยเพื่อปลิดวิญญาณ…

เวลา ๑๒.๐๐ น.เศษ นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการจังหวัดและอำเภอ นายตำรวจและผู้ติดตามรวม ๗ คน ก็เดินทางโดยรถยนต์บรรทุก ๖ ล้อของแขวงการทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดธงสีขาวหน้ารถ วิ่งผ่านแนวการวางกำลังของทหารญี่ปุ่นเข้ามาโดยปราศจากการขัดขวาง

คณะปลัดจังหวัดมาพร้อมกับคำสั่งหยุดยิงซึ่งเป็นโทรเลขจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้วมามอบให้กับผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕

เมื่อได้หลักฐานชัดเจนเช่นนี้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕ จึงสั่งให้ทหารในบังคับบัญชายุติการสู้รบ

เวลา ๑๔.๐๐ น.ได้มีการเรียกรวมพลทั้งของทหารไทยและทหารญี่ปุ่นที่บริเวณสนามบิน ทำการปรับความเข้าใจและตกลงแบ่งเขตกันเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกันในภายหลัง ต่างฝ่ายต่างสำรวจความเสียหายและรีบเก็บศพทหารของฝ่ายตน

กระสุนนัดสุดท้ายของนายทหารอากาศผู้กล้าแห่งอ่าวมะนาวจึงไม่มีโอกาสได้ใช้งาน

ผลการรบ
ผลของการสู้รบเฉพาะที่บริเวณกองบินน้อยที่ ๕ ปรากฎว่า ทหารไทยเสียชีวิต ๓๘ นาย นายตำรวจเสียชีวิต ๑ นาย เด็กนักเรียนชายซึ่งออกไปช่วยลำเลียงกระสุนส่งให้ทหารถูกกระสุนปืนข้าศึกเสียชีวิต ๑ คน สตรีซึ่งเป็นครอบครัวทหารเสียชีวิต ๒ คน หนึ่งในจำนวนนี้มีภรรยาของเรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ซึ่งขณะนั้นได้แยกนำกำลังฝูงบินไปเข้าที่ตั้ง ณ สนามบินต้นสำโรง นครปฐม รวมอยู่ด้วย เรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ ต่อมาจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศและเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบิน
รวมแล้วฝ่ายไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น ๔๒ คน และมีบาดเจ็บทั้งทหารและพลเรือนอีก ๒๗ คน

สำหรับการสูญเสียฝ่ายญี่ปุ่นนั้น มีทหารเสียชีวิตในที่รบถึง ๒๑๗ คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร ๘ คน นอกนั้นเป็นนายทหารประทวนและทหารกองประจำการ กับมีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บในเวลาต่อมาอีกประมาณ ๓๐๐ คน ในจำนวนนี้มีนายทหารญี่ปุ่นชั้นผู้บังคับกองพันเสียชีวิตที่ริมอ่าวมะนาวขณะยกพลขึ้นบกด้วย ๑ คน นายทหารอื่นอย่างน้อยอีก ๓ คน ทั้งนี้มีผู้ตัดเครื่องหมายยศจากศพทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย
อ่าวมะนาววันนี้

อ่าวมะนาวทุกวันนี้ยังคงเป็นที่ตั้งของกองบินกองทัพอากาศโดยเปลี่ยนชื่อเป็นกองบินที่ ๕๑ สถานที่สำคัญครั้งประวัติศาสตร์เช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ทุกแห่งยังคงอยู่ครบถ้วน เขาล้อมหมวกอันเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่นายทหารทุกนายเตรียมกระสุนนัดสุดท้ายไว้สำหรับตนก็ยังคงยืนตระหง่านท้าทายอยู่ริมอ่าวอย่างอหังการ
จากสมรภูมิรบที่แตกต่างไปจากสมรภูมิอื่นๆเพราะรบกันข้ามวันข้ามคืน ทุกวันนี้ อ่าวมะนาวได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งงดงามทรงเสน่ห์และหากผู้ใดได้รับทราบเรื่องราวแห่งความกล้าหาญของเหล่าทหารกล้าและครอบครัวในเช้ามืดวันนั้นแล้ว พวกเขาก็คงสัมผัสได้พลังลึกลับบางประการที่แฝงเร้นอยู่ในทุกอณูของบรรยากาศ

ข้อเขียนของคุณ Gen.Bunchon

ความคิดเห็น

วันที่: Thu May 09 23:27:41 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

 <iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/_jUHKM1YHcc" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>