Support
Arjan Pong
035 323239, 035 323240, 089 8129392
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

"ข้าขอตายอย่างชายขาติทหาร!!  จะยืนหยัดต่อสู้จนดาบสุดท้าย!!.."

ArjanPong | 06-03-2561 | เปิดดู 1849 | ความคิดเห็น 0

 

 

 

"ข้าขอตายอย่างชายขาติทหาร!! 
จะยืนหยัดต่อสู้จนดาบสุดท้าย!!.."
www.arjanpong.com
#พระนารายณ์ #พระยายมราช #อยุธยา #พลังภูผา

 

พระยายมราชสังข์นี้ เป็นนักรบแขกเพื่อนคู่หูกับพระยารามเดโช การที่ทั้งสองคนเป็นกบฎไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ก็เป็นการแสดงอารมณ์และความประพฤติแบบแขกอยู่สักหน่อย คือมุทะลุใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล

 

ทั้งสองถือตนว่า เป็นทหารเอกของพระนารายณ์มาก่อน เมื่อได้ข่าวว่าพระเพทราชาและพระเจ้าเสือแย่งชิงราชสมบัติก็โกรธแค้น ไม่ยอมเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเช่นขุนนางอื่นทั้งหลาย ทระนงในเกียรติยศของตน ถือมั่นในอุดมคติว่าเมื่อตนจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายญ์มหาราชมาตลอดชีวิต ก็จะไม่ยอมเปลี่ยนมารับใช้ผู้ที่ทรยศกับพระองค์ จึงแข็งเมืองทั้งสองขึ้นทันที

ทั้งพระยารามเดโชและพระยายมราชสังข์นั้น เป็นนักรบแขกนิสัยร้อนรุนแรงมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ยังมีชีวิตอยู่ เล่าไว้ในประวัติศาสตร์ว่า

 

ที่ทั้งสองถูกส่งไปครองเมืองราชสีมา และศรีธรรมราช ก็เพราะสมเด็จพระนารายณ์ไม่สามารถเก็บไว้ในกรุงศรีอยุธยาได้ สมัยที่เจ้าพระยาโกษาเหล็กท่านยังเป็นอัครมหาเสนาบดีอยู่ ยอดทหารแขกทั้งสองนี้ มีความเคารพนับถือและเกรงอกเกรงใจท่าน แต่เมื่อเจ้าพระยาโกษาเหล็กถึงแก่กรรม ก็ไม่มีใครคุมแขกทั้งสองนี้อยู่ได้ เพราะเฮี้ยวมาก และเกลียดชังเจ้าพระยาวิชเยนทร์อัครมหาเสนาบดีฝรั่งชาวกรีก จึงต้องส่งออกไปครองเมืองที่ห่างไกล

 

เหตุผลที่พระยายมราชสังข์ และพระยารามเดโชโกรธแค้นเกลียดชังเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ก็เพราะท่านผู้นี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าพระยาโกษาเหล็กต้องเสียชีวิต

 

เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งเจ้าพระยาวิชเยนทร์กราบทูลแนะนำให้สมเด็จพระนารายณ์สร้างป้อมปราการแบบตะวันตก ตามเมืองสำคัญต่าง ๆ ในกรุงสยามเพื่อเป็นการป้องกันราชอาณาจักร เจ้าพระยาโกษาเหล็กซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีและแม่ทัพเอกคัดค้านว่าไม่เห็นด้วย เพราะท่านห่วงว่าหากศัตรูยกทัพมาล้อมป้อม ทหารไทยประจำอยู่ข้างในก็จะอดตายภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์

 

สมเด็จพระนารายณ์ทรงโกรธเจ้าพระยาโกษาเหล็ก หาว่าท่านพูดเช่นนั้นเพราะพยายามปกป้องคุ้มครองคนไทยที่จะต้องถูกเกณฑ์ตัวไปสร้างป้อม กล่าวว่าท่านกินสินบนจากคนเหล่านี้ แล้วจึงรับสั่งให้เฆี่ยนเจ้าพระยาโกษาเหล็กเสีย เหตุการณ์นี้ บาทหลวง เดอ เบซ บันทึกไว้ละเอียดว่า

 

“การโบยหลังนั้น เป็นวิธีทำโทษที่พบบ่อยในกรุงสยาม แต่ขุนนางชั้นสูงจะถูกเฆี่ยนก็ต่อเมื่อได้กระทำความผิดที่ร้ายแรง นักโทษจะถูกเปลือยกายลงมาถึงเอว มือทั้งสองจะถูกขึงห้อยไว้เหนือศีรษะระหว่างที่หลังถูกเฆี่ยนด้วยหวายมัดเชือก จะถูกโบยกี่ทีนั้นขึ้นอยู่กับความหนักของโทษ แต่มักโบยกันจนผิวหนังหลุดลอกออกจากหลังหมดสิ้น

 

พระคลัง (คือเจ้าพระยาโกษาเหล็ก) ท่านถูกโบยมากมายหลายครั้ง ความต้องทนทุกข์ทรมานกาย บวกรวมกับความชอกช้ำละอายใจ ทำให้ท่านถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ และเจ็บหนัก ท่านมิได้โทษใครอื่นนอกจากตนเอง สำหรับผลกรรมที่ความผิดของท่านนำมา.. หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ถึงแก่ความตาย ก่อนจะสิ้นลมหายใจ ท่านได้เรียกญาติพี่น้องทั้งหลายมาที่เตียงนอน และสั่งสอนถึงความเคารพและจงรักภักดีที่ต้องมีต่อองค์พระเจ้าแผ่นดิน”

 

“เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ได้ถึงอสัญกรรมในปี พ.ศ. 2226 และเนื่องจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปเสียนั้น เป็นเหตุให้ข้าราชการแตกพรรคแตกพวกกัน และคงจะเนื่องจากพระยายมราช (สังข์) กับพระยารามเดโชสองท่านนี้ มีหัวรุนแรงในข้างไม่ชอบวิชเยนทร์อย่างเปิดเผย แต่ทั้งสองท่านนั้น ต่างก็เป็นนายทหารที่มีฝีมือของสมเด็จพระนารายณ์ ด้วยได้เคยทรงใช้สอยในงานพระราชสงครามเป็นที่โปรดปรานมาแล้ว จะโปรดให้อยู่ร่วมกันในกรุงศรีอยุธยา ก็จะเป็นการยุ่งยากพระราชหฤทัยจึงโปรดแต่งตั้งให้ไปมีอำนาจอยู่แยกย้ายกันเสีย

 

และประจวบกับตั้งแต่ประหารชีวิตเจ้าพระยานครฯ คนก่อน ให้ตายตกไปตามศรีปราชญ์แล้ว เมืองนครศรีธรรมราชก็ว่างผู้ครองอยู่ จึงโปรดตั้งให้พระยารามเดโชไปเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช พร้อม ๆ กันกับโปรดตั้งขุนนางเชื้อแขกผู้หนึ่ง ทำหน้าที่พระคลังสืบต่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ซึ่งถึงอสัญกรรมไปในปี พ.ศ. 2226 นั้น”

 

ส่วนพระยายมราช (สังข์) ยอดทหารแขกอีกคนหนึ่งนั้นพงศาวดารกล่าวว่า ได้ถูกส่งออกไปครองนครราชสีมา เจ้าแขกทั้งสองก็ครองเมืองอย่างเงียบ ๆ ตลอดรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ จนพระองค์ทรงประชวร และสิ้นพระชีพ จึงแผลงฤทธิ์เป็นกบฎขึ้นทั้งคู่

 

เมื่อสมเด็จพระเพทราชา และพระเจ้าเสือมหาอุปราชทรงได้ข่าวว่าพระยายมราชสังข์แข็งเมืองนครราชสีมาก็ทรงพิโรธนักจึงรับสั่งให้พระยาสีหราชเดโชจัดทัพใหญ่มีพลทหาร 10,000 คน ช้าง 200 เชือก และม้าอีก 300 ตัว ยกขึ้นไปล้อมเมืองแต่พระยายมราชสังข์กับชาวนครราชสีมาก็ต่อสู้เป็นสามารถ

 

ทัพกรุงยกเข้าแหกหักเป็นหลายครั้ง ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันทั้งกลางวันกลางคืนไม่ย่อหย่อนทัพกรุงหักเอาไม่ได้ก็ตั้งล้อมมั่นไว้ แต่ทัพกรุงยกไปเคี่ยวขับทำสงครามด้วยชาวนครราชสีมาทั้งสองครั้ง ประมาณสองปีเศษ

 

ชาวเมืองไม่ได้ทำนาสิ้นสองเทศกาลมาแล้ว เสบียงอาหารก็กันดารลง ไพร่พลเมืองอดอยากซูบผอมล้มตายเป็นอันมากนัก บ้างยกครัวหนีออกจากเมืองนั้นก็มาก แต่ทว่าพระยายมราชเจ้าเมืองนี้ ฝีมือเข้มแข็ง ตั้งเคี่ยวขับต้านทานอยู่มิได้แตกฉาน”

 

เมื่อไม่ได้เมืองด้วยการรบพุ่งแบบธรรมดา พวกแม่ทัพกรุงศรีอยุธยาก็ปรึกษาหารือกัน ว่าจะต้องระดมอาวุธพิเศษใช้ลูกระเบิดเพลิงเผาเมืองให้ราบคาบ สมัยโบราณนั้นไม่มีเครื่องบินทิ้งระเบิด จึงต้องชักว่าวจุฬาแทน พร้อมทั้งยิงลูกระเบิดและธนูเพลิงข้ามกำแพงเข้าไปในเมือง การระดมโจมตีแบบสมัยใหม่นี้ มีประสิทธิภาพมาก นครราชสีมาลุกไหม้เป็นเพลิงไปทั้งเมือง ผู้คนบาดระส่ำระสาย ในที่สุดก็แตก

 

พระยายมราชสังข์หนีออกจากนครราชสีมาได้ ก็พาสมัครพรรคพวกตรงมาหาเพื่อนแขกเก่าคือ พระยารามเดโช ก็เป็นกบฎแข็งเมืองต่อพระเทพราชาเช่นกัน พระยาแขกทั้งสองจึงซ่องสุมผู้คนและเครื่องศัตราวุธเตรียมยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยารามเดโชคุมนครศรีธรรมราชอยู่มั่น

 

ส่วนพระยายมราชสังข์นั้น จัดทัพใหม่ยึดแผ่นดินอยู่ตรงจุดต่อระหว่างเมืองไชยาและนครศรีธรรมราช พระเพทราชาทรงได้ทราบข่าว ก็พิโรธโกรธเคืองยิ่งนัก ตรัสว่า

 

“อ้ายสองคนนี้องอาจนัก จะไว้มันมิได้ ควรจะแต่งทัพใหญ่ยกไปทั้งทางบกทางเรือ ปราบปรามมันเสียจึงจะชอบ อันอ้ายกบฎสองคนนี้ มันไม่พ้นเงื้อมมือเรา แม้ได้ตัวแล้ว จะสับมิให้กากลืนแค้น”

คราวนี้กรุงศรีอยุธยาจัดทัพบกมีพลหนึ่งหมื่น ช้าง 3,000 เชือก ม้ากี่ตัวพงศาวดารไม่บอก พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง แล้วยังมีทัพเรืออีก เป็นเรือรบ 100 ลำ เรือทะเล 100 ลำ และพลรบ พลแจวอีกห้าพัน มีพระยาราชบังสันเป็นแม่ทัพ พงศาวดารเล่าต่อว่า

 

“กองทัพบกยกไปถึงพรมแดนเมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราชต่อกัน ซึ่งนายสังข์ยมราชมิรู้ตัว ไม่ทันที่จะจัดแจงต้านทานไว้ให้มั่นคง ต้องจำเป็นจำรบพุ่ง ผู้คน ทแกล้วทหาร มิทันพร้อมเพรียงกัน ระส่ำระสายไปเป็นอลหม่านและนายสังข์ยมราชมีฝีมือเข้มแข็ง ถือพลทหารออกแหกหักจะออกมา ทัพกรุงต่อรบต้านทานไว้เป็นสามารถแล้วเข้ารุมตีขนาบเป็นหลายกอง

พวกนายสังข์ยมราชน้อยตัว เหลือกำลังแหกออกมิได้ ก็แตกฉานล้มตายเป็นอันมาก และตัวนายสังข์ยมราชหนีไปมิพ้นกับทหารร่วมใจเจ็ดคนแปดคนด้วยกัน ก็ยืนประจัญรบพุ่งอยู่จนตายในที่รบสิ้น”

 

ในที่สุด พระยายมราชสังข์ ยอดทหารของสมเด็จพระนารายณ์ ก็ตายอย่างชายชาติทหาร ยืนหยัดต่อสู้จนดาบสุดท้าย..........

 

Credit : คุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
ภาพ : ประตูเมืองโคราชในอดีต

 

 

ความคิดเห็น

วันที่: Wed Apr 17 03:18:09 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

 <iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/_jUHKM1YHcc" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>