Support
Arjan Pong
035 323239, 035 323240, 089 8129392
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

ทหารเอกคู่บัลลังก์พระเจ้าตาก ขอตายเพื่อเป็นข้านายเดียว!!

ArjanPong | 13-03-2562 | เปิดดู 1550 | ความคิดเห็น 0

 

          

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักแกะสลักจากไม้ตะเคียนโบราณ ประดิษฐานบริเวณ

หน้าวัดคุ้งตะเภา หันหน้าสู่ทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เพื่อรำลึกถึงอดีตเมืองสวางคบุรีใ

นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ ๆ ท่านได้มาฝึกมวยกับครูเมฆ

แห่งบ้านท่าเสา-คุ้งตะเภา ในวัยเด็ก และเป็นพื้นที่เกิดวีรกรรมการปรามชุมนุม

เจ้าพระฝางแห่งเมืองสวางคบุรี เป็นชุมนุมสุดท้ายในสมัยธนบุรี

 

          

  ภาพพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก ในพิธีปลุกเศกเหรียญ

  พระยาพิชัยดาบหัก‬ ณ ปรำพิธีหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2513

 

          

 พระปรางค์วัดราชคฤห์วรวิหาร กทม.สถานที่บรรจุอัฐิของพระยาพิชัยดาบหัก และหมื่นหาญณรงค์ 

 

          

                     ทองดีฟันขาว (แสดงโดย บัวขาว บัญชาเมฆ)

 

...เรื่องเก่าเล่าตำนาน...
ทหารเอกคู่บัลลังก์พระเจ้าตาก 
ขอตายเพื่อเป็นข้านายเดียว!!
www.arjanpong.com
#พระยาพิชัยดาบหัก #พระเจ้าตาก #กรุงธนบุรี
บรรดาทหารที่ติดตามพระเจ้าตากสินแหวกวงล้อมพม่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยา ในพงศาวดารปรากฏชื่ออยู่เพียงไม่กี่คน เช่น พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา ขุนอภัยภักดี ขุนพิพิธวาที หมื่นราชเสน่หา นายทองดี นายบุญมี นายแสงทหาร และนักองราม เจ้ากรุงกัมพูชา เป็นต้น

ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดพระเจ้าตากสินที่ติดตามมาจากเมืองตาก แต่มีไม่กี่คนที่ต่อมาถือได้ว่าเป็นทหารเอกคู่บัลลังก์ อย่างเช่น หลวงพิชัยราชา และนายทองดี หรือหลวงพิชัยอาสา ซึ่งร่วมชะตากรรมแหวกวงล้อมพม่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยาด้วยกัน

นายทองดี หรือ หลวงพิชัยอาสา ผู้นี้ เข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตาก เดิมมีนามว่า “จ้อย” เป็นชาวเมืองพิชัย ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นบุตรชาวนาที่ยากจน และมีนิสัยรักการผจญภัยชอบชกต่อย มีบาดแผลฟกช้ำเป็นประจำ พ่อแม่จึงพาไปฝากเรียนหนังสือกับท่านพระครูที่วัดมหาธาตุ เมืองพิชัย เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ แต่อยู่ได้ ๖ ปีก็ไปเกิดเรื่องกับลูกชายเจ้าเมืองพิชัยที่เรียนอยู่วัดเดียวกัน และวางอำนาจจะเป็นใหญ่ แต่จ้อยไม่ยอมให้ข่มจึงต่อยเสียสลบ เลยต้องหนีไปให้พ้นอาญาวัดและอาญาเจ้าเมือง

จ้อยมุ่งไปที่บ้านท่าเสา เพราะประทับใจฝีมือครูมวยคนหนึ่งชื่อ “เที่ยง” ซึ่งเคยมาโชว์ฝีมือในงานวัดมหาธาตุ โดยอาศัยวัดในเส้นทางเป็นที่พักและประทังความหิวไปตลอดทางจนถึง แต่ก็ยังกลัวคดีที่ทำกับลูกเจ้าเมืองไว้ จึงบอกกับครูเที่ยงว่า

“ฉันชื่อทองดี พ่อแม่อยู่ที่บ้านดินแดง แต่ท่านไม่ชอบให้ฉันหัดมวย จึงหนีท่านมาฝากตัวกับอาจารย์”

ครูเที่ยงเห็นความตั้งใจของทองดีก็รับไว้เป็นศิษย์

ทองดีฝึกปรือวิชามวยอยู่ที่ท่าเสาจนแกร่งกล้าแล้ว ก็พอดีมีพระภิกษุรูปหนึ่งธุดงค์ผ่านมาและเห็นฝีมือ จึงชวนไปอยู่เมืองสวรรคโลก โดยฝากกับอาของท่านซึ่งเป็นครูดาบของเจ้าเมือง

เรียนทั้งวิชามวยและวิชาดาบแล้ว ก็มีพ่อค้าจีนคนหนึ่งมาชวนไปเมืองตาก บอกว่าพระยาตากเป็นคนที่โปรดปรานกีฬาชกมวยมาก น่าจะไปสมัครรับราชการกับท่าน ซึ่งทองดีก็เห็นชอบด้วย

การเดินทางจากสวรคโลกไปตากในสมัยนั้นต้องพักแรมกลางป่าที่ชุกชุมด้วยเสือ โดยจุดกองไฟแล้วผลัดกันเฝ้ายามไว้ พอตอนดึกมีเสือตัวหนึ่งเข้ามาคาบขาเด็กชายที่ติดตามมาออกไป ทองดีกำลังเคลิ้มหลับได้ยินเสียงเด็กร้องให้ช่วย ด้วยนิสัยที่ไม่กลัวอันตรายใดๆ ก็คว้ามีดพกยาวประมาณ ๑ คืบที่ติดตัวมาวิ่งตามไป พอทันก็โดดเข้ากอดคอเสือกระชากจะให้ปล่อยเด็ก เสือเลยหันมาจะคาบทองดีแทน ทองดีฉวยจังหวะนี้เสือกคมมีดเข้าที่คอเสือ ทำให้เสือร้องลั่นด้วยความเจ็บปวด แล้วผละหนีเข้าป่าไปทั้งที่มีดยังติดอยู่ที่ลำคอ

ทองดีพาเด็กเข้ารักษาที่เมืองตากได้อย่างปลอดภัย แต่ต่อมาอีก ๓-๔ วันก็มีกองเกวียนพ่อค้าจากสุโขทัยมาแจ้งว่า พบเสือนอนตายอยู่กลางป่า มีมีดปักคาอยู่ที่คอ

ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๐๓ ขณะทองดีมีอายุได้ ๑๘ ปี พระยาตากได้จัดให้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเช่นทุกปีที่วัดซึ่งทองดีพักอยู่ ในงานนี้ที่ขาดไม่ได้ก็คือการแข่งขันชกมวย ทองดีเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะแสดงฝีมือต่อหน้าเจ้าเมือง จึงไปเปรียบมวยในครั้งนี้ด้วย

ครูห้าว ครูมวยชื่อดังของเมืองตากได้พาลูกศิษย์ของตัวมาเปรียบด้วย ทองดีอยากจะดังทางลัดจึงขอจับคู่กับครูห้าวเสียเลย แต่แรกครูห้าวก็ไม่เชื่อหู เพราะใครก็รู้ว่าครูห้าวนั้นมีฝีมือระดับที่ไม่มีใครกล้าเทียบ แต่เด็กหนุ่มตัวดำยิ้มฟันขาวก็ย้ำหนักแน่นว่า

“จริงๆนะพ่อครู ฉันอยากจะต่อยกับพ่อครูมากกว่าคนอื่น เพราะถ้าฉันแพ้ฉันก็จะได้จดจำเชิงมวยจากพ่อครูไว้ไม่มากก็น้อย พ่อครูโปรดสั่งสอนฉันด้วยเถิด”

ครูห้าวจะไม่รับก็ไม่กล้า เพราะลูกศิษย์ของท่านก็ได้ยินพร้อมกัน จึงยอมรับท้า
เมื่อกรรมการจับคู่ให้ตามประสงค์แล้ว ข่าวลือก็แพร่สะพัดไปทั่วอย่างไม่น่าเชื่อหูว่า มีเด็กหนุ่มที่ชื่อทองดี ตัวดำยิ้มฟันขาว จะขึ้นชกกับครูห้าวในเย็นวันนั้น

ทองดีได้นำเรื่องเปรีบมวยจับคู่กับครูห้าวไปเล่าให้พระครูวัดใหญ่ที่ตนอาศัยอยู่ฟัง ท่านพระครูก็ตกใจ ไม่คิดว่าลูกศิษย์จะบ้าระห่ำถึงขนาดนั้น เพราะครูห้าวเป็นครูมวยชื่อโด่งดัง วัยเพิ่งใกล้ ๔๐ รูปร่างสูงใหญ่บึกบึนที่ทองดีไม่น่าต้านแรงได้ ที่สำคัญยังมีลูกศิษย์ทั่วเมือง หากทองดีเอาชนะครูห้าว ทำให้ครูมวยชื่อดังของเมืองตากอับอายขายหน้า ลูกศิษย์ครูห้าวก็ต้องพากันโกรธแค้น จนทองดีไม่สามารถอยู่วัดนี้ได้ต่อไป

ข้อหลังนี้ทำเอาทองดีถอดใจ พอถึงเวลาชกจึงหลบหน้าไม่ยอมมาขึ้นเวที พระยาตากซึ่งนั่งเป็นประธานอยู่ข้างเวทีจึงให้ทหารไปตามตัวทองดีมาให้ได้ เพราะกำลังสนใจที่ได้กิตติศัพท์ว่าหนุ่มคนนี้คือคนที่ฆ่าเสือด้วยมีดพก ทหารไปพบทองดีกำลังปรึกษาอยู่กับท่านพระครูจึงพามาพบพระยาตาก

ทองดีกราบเรียนตามตรงถึงเหตุผลที่ไม่กล้าขึ้นชก พระยาตากจึงบอกว่าอย่าวิตกไปเลย จะรับประกันความปลอดภัยในเรื่องนี้ให้เอง ทองดีจึงก้มกราบแล้วไปขึ้นเวทีตามที่เปรียบไว้

เมื่อสิงห์หนุ่มและเสือเฒ่ายืนประกบกันกลางเวที คนดูทั้งสนามก็เห็นว่าสิงห์หนุ่มไม่มีทางจะสู้ได้ เพราะความที่เป็นไก่อ่อนคนละรุ่นกับครูมวยที่เจนเชิงแล้ว รูปร่างของครูห้าวยังล่ำสันบึกบึน แต่คนรอบเวทีก็ประทับใจในท่ารำมวยของนายทองดีฟันขาว ที่สง่างามดูมีอำนาจ เหมือนพระยาราชสีห์จะเข้าจับสัตว์เป็นภักษาหาร

ส่วนครูห้าวพอกรรมการให้เริ่มก็บุกเข้าใส่ทองดีทันทีด้วยกลยุทธที่ครบเครื่อง สิงห์หนุ่มได้แต่ปัดป้องตามเชิงมวยที่ตนฝึกมามิให้โดนอย่างเต็มๆ แต่บางทีก็พลาดถึงล้ม ประคองตัวจนหมดยกไปได้

ระหว่างพักยก พระยาตากมาถามด้วยความเป็นห่วงว่าจะสู้ต่อไปอีกไหม ทองดีก็กราบเรียนว่าจะขอดูอีกสักยก

ก่อนจะขึ้นยกสอง ทองดีได้ยกมือไหว้ครูห้าวแล้วบอกว่า

“ยกนี้ฉันขอทำบ้างละนะ พ่อครูเตรียมรับให้ดีก็แล้วกัน”

พอเริ่มยกสองสิงห์หนุ่มก็ไม่รอช้า โดดขึ้นเหยียบชายพกครูห้าว แล้วเสือกหมัดเข้าเบ้าตาอย่างจัง จนครูมวยเอียงกระเท่เร่ ทองดียังประเคนศอกซ้ายขวาเข้าที่หัวอีก แล้วกระโดดตีลังกาข้ามหัวไปยืนอยู่ข้างหลังตามท่าที่จดจำมาจากงิ้ว ครูห้าวเจอหมัดและศอกยังยืนงงไม่หาย ก็ถูกสิงห์หนุ่มประเคนเท้าเข้าปากครึ่งจมูกครึ่ง และยังหวดเข้าที่กรามจนดังลั่นเวที ทำเอาเสือเฒ่ากลายเป็นนกปีกหักล้มลงกองกับพื้น เมื่อฟื้นขึ้นมาครูห้าวก็ยอมรับอย่างนักกีฬาว่าแกแพ้อย่างสู้ไม่ได้จริงๆ

แต่พระยาตากยังแคลงใจว่าชัยชนะของนายทองดีฟันขาวอาจจะเป็นแค่ฟลุ๊ค จึงถามว่า

“เจ้ายังจะพอสู้กับคนอื่นให้ข้าดูอีกสักครั้งได้หรือไม่?”

ซึ่งทองดีก็รับว่าได้ พระยาตากจึงให้ครูมวยของพระองค์ที่ชื่อ หมึก วัยเดียวกับครูห้าวเป็นคู่ชก ปรากฏว่าพอขึ้นเวทีประกบคู่กัน คนดูก็ฮือกันทั้งเวที เพราะนายหมึกตัวใหญ่กว่าครูห้าวเสียอีก ยืนบังทองดีมิด ทั้งยังดำไม่แพ้ทองดี

พระยาตากยังกลัวว่าทองดีจะไม่กล้าสู้ จึงถามให้แน่ใจว่าจะสู้หรือไม่ ซึ่งทองดีก็รับว่าสู้

พอเริ่ม ครูหมึกเป็นฝ่ายเริ่มก่อนเหมือนครูห้าว แต่ต่อยเตะได้อย่างละที ซึ่งทองดีก็ปิดป้องไว้ได้ หลังจากนั้นก็ประเคนทั้งหมัดและเท้าเป็นจักรผันโต้กลับจนครูหมึกไม่มีโอกาสตอบโต้ ทั้งยังเข้าเป้าจุดยุทธศาสตร์ที่กรามและก้านคอ ครูหมึกจึงสลบคาเวทีไปอีกราย

พระยาตากหายสงสัย เรียกทองดีมาหมอบข้างหน้า ประทานรางวัลให้ ๕ ตำลึง แล้วกล่าวว่า

“เจ้ามีฝีมือการต่อสู้เป็นเลิศอย่างนี้ สมควรจะรับใช้ชาติบ้านเมือง เข้ามาเป็นทหารอยู่กับข้าเสียเถิด จะเลี้ยงเจ้าให้เป็นสุขตลอดไป”

ทองดีก้มลงกราบ ถวายตัวเป็นทหารกล้าของพระยาตากตั้งแต่วันนั้น ขณะมีอายุได้ ๑๙ ปี

พระยาตากได้กราบทูลไปยังกรุงศรีอยุธยา พอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ทองดีเป็นหลวงพิชัยอาษา ต่อมาก็สู่ขอนางสาวรำยง คนรับใช้คุณหญิงของท่านเองให้เป็นภรรยา

หลวงพิชัยอาสาติดตามพระยาตากตั้งแต่เป็นเจ้าเมืองตากในครั้งนั้น จนขึ้นครองราชย์ได้รับโปรดเกล้าเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ทหารเอกราชองครักษ์ และเมื่อปราบปรามก๊กต่างๆหมดแล้วได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาสีหราชเดโชชัย ครองเมืองพิชัย คราวเดียวกับที่เจ้าพระยาพิชัยราชาเป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก และพระยายมราชได้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชครองเมืองพิษณุโลก

ใน พ.ศ.๒๓๑๖ พม่ายกมาตีเมืองพิชัย เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพพิษณุโลกมาช่วย ตีพม่าแตกทัพไป ในสงครามครั้งนี้พระยาพิชัยถือดาบสองมือเข้าตลุยข้าศึกจนดาบด้ามหนึ่งหักกลางสมรภูมิ จนได้ชื่อเลื่องลือว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”

เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าตากสิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงปรารถนาจะได้ทหารที่มีฝีมือและซื่อสัตย์อย่างพระยาพิชัยเข้ารับราชการ แต่ “พระยาพิชัยดาบหัก” ซื่อสัตย์เกินกว่าจะเป็นข้าสองเจ้าได้ และโศกเศร้าอาลัยในพระเจ้าตากสินที่เลี้ยงดูตัวให้มียศฐาบรรดาศักดิ์มาตั้งแต่อายุ ๑๙ จึงขอตายตามเจ้านายด้วย ในที่สุดก็ต้องถูกประหารชีวิต ขณะมีอายุได้ ๔๑ ปี

“พระยาพิชัยดาบหัก” เป็นต้นตระกูล วิชัยขันธะ วิชัยลักขณา ศรีศรากร พิชัยกุล ศิริปาละ ดิฐานนท์ เป็นต้น

นี่ก็เป็นชีวิตหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่มีเรื่องราวโลดโผน สนุกสนานยิ่งกว่านิยายเสียอีก และเป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์กตัญญู ถูกนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์มาหลายครั้ง

Credit : https://mgronline.com/โรม บุนนาค

ความคิดเห็น

วันที่: Sun May 05 21:13:01 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0

 <iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/_jUHKM1YHcc" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>